ระดับความเชื่องของกระทิงดำ 10 ตัว จะมี 1ตัวที่ดุ ครับ
นิสัยส่วนใหญ่ของกระทิงดำจะดุไม่มากครับ คือระดับกลางๆ
แต่ถ้าชอบด้วงไม่ดุเลย ผมแนะนำ เคอวิเดนครับเชื่องมาก จับเล่นได้ไม่หนีบ
คีมก็คล้ายๆกัน ไม่รู้ว่าชอบรึปล่าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dorcus antaeus
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในโซนเอเซีย ตั้งแต่ มาเลเซีย ไทย ลาว กัมพูชา เวียตนาม พม่า จีน อินเดีย ภูฐาน
จะบอกว่าเป็นด้วงยอดนิยมในช่วง 20 ปีที่แล้วก็ว่าได้
กระทิงดำของไทยเคยได้รับความนิยมอันดับหนึ่ง เพราะการหากระทิงดำจากอินเดีย พม่า และมาเลย์ (ซึ่งสวยและใหญ่กว่า) ยังเป็นเรื่องยาก
มีคนเล่าให้ฟังว่าช่วงแรกที่ด้วงญี่ปุ่นบูมนั้น กระทิงดำของไทยส่งออกสูงถึง 1000 คู่/ปี สนนราคาแข่งกันที่ 3,000-10,000 บาทตามขนาด
รวมๆน่าจะมีด้วงชนิดนี้ไปญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 10,000คู่แล้ว
มาถึงบันทึกฉบับนี้
ผมเพาะกระทิงดำมา 3-4 ปีเห็นจะได้
ด้วงคุ้นเคยของไทยตัวนี้ที่สามารถใหญ่ได้ถึง 85มม. ในราคาเกือบหมื่นบาท
ความสวยงามจัดว่าเข้าขั้น ถ้าได้ด้วงขนาดใหญ่หรือฟอร์มครบนะ
ในปีแรกๆกว่าจะได้ไข่มาซักฟองต้องบอกว่ายากมาก ลองแถบทุกวิธี ไม่ว่าจะตามที่ญี่ปุ่นแนะนำหรือตามหนังสือบอกไว้
กว่าจะพบวิธีหรือชนิดของวัสดุที่ถูกต้องก็กินเวลาไปนานทีเดียว
ด้วงคีมกระทิงดำไข่ได้ 2 แบบ ในขอนไม้ผุและในวัสดุรองพื้น
ต้องใช้ขอนนิ่มเท่านั้น สำหรับวัสดุรองพื้นแนะนำให้ใช้ Lmat pro หรือ ELmat เท่านั้น
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากขั้นตอนวางไข่ผ่านไป
มันเข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้หนอนออกมาใหญ่ที่สุด
ประเด็นที่สำคัญในช่วงนี้มีหลายปัจจัย
1.อุณหภูมิ ต้องเย็น เย็น และเย็น - เป็นประเด็นที่ยากที่สุดในบ้านเรา กับอากาศเมืองร้อนแบบนี้ แต่ไฟฟ้ามี แอร์มี ลุยได้!
อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 15-24 องศา ตามหนังสือว่าไว้
2.อาหารต้องใช่ สารอาหารต้องครบ ลองสูตรอาหารมันทุกสูตรที่มีคนบอกมานั่นแหละครับ กว่าจะรู้ว่าใช่หรือไม่ใช่สูตรนึงกินเวลาอย่างน้อย 6 เดือน เพราะต้องลองให้หนอนทานจนออกมาเป็นตัวจริงๆ แต่ก็ลุยเหมือนกัน หนอนมีป้อนไม่อั้น
อาหารที่เหมาะสมที่สุดคือเชื้อเห็ดนางฟ้า และเชื้อเห็ดนางฟ้าดำ เห็ดอื่นลองได้ แต่ไม่ใช่แน่นอน
3.ลักษณะเนื้อไม้ เนื้อไม้ที่ไม่ใช่มันคือไม่ใช่ เพราะถ้าเนื้อไม้นั้นหนอนไม่ทาน ต่อให้อาหารครบ หนอนก็สามารถตายในกระปุกนั้นได้ครับ
ไม้ที่ดีที่สุดคือขี้เลื่อยไม้ก่อหรือต้นโอ๊ค แต่มันเป็นไม้สงวน ของรองลงมาคือไม้ทะโล้ ใช้แทนได้
4.ความมืด เงียบ สงบ - ปัจจัยที่ยากที่สุดสำหรับนักเพาะรุ่นจิ๋ว เพราะความอยากรู้อยากเห็นนั่นเอง ต้องท่องไว้ในใจว่า อยากได้ตัวใหญ่ ต้องอดทนรอ
พื้นที่ที่ดีที่สุด ต้องมืดสนิท ไม่มีแรงสั่นสะเทือน วางไว้ในที่ไม่มีคนเดินผ่านเลย
5.ขนาดบรรจุของกระปุก - สรุปได้เลยว่า 1500-2500cc. คือขนาดที่ถูกต้องสำหรับตัวผู้แล้ว เล็กกว่านี้อาหารไม่พอ เปลี่ยนกระปุกบ่อย รบกวนหนอนบ่อยด้วย
กระทิงดำตัวนี้คือตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เพาะได้ในปัจจุบัน ขนาด 56มม.
ข้อมูลเบื้องต้น
ก.ค. 54 เริ่มเพาะ [WDxWD]
ส.ค. 54 ได้ไข่
ก.ย. 54 หนอนระยะ 1 เลี้ยงกระปุก 600cc.
ต.ค. 54 หนอนระยะ 2 เลี้ยงกระปุก 600cc
ธ.ค. 55 หนอนระยะ 3 เลี้ยงกระปุกเห็ด 1500cc
มี.ค. 55 เปลี่ยนอาหาร
มิ.ย. 55 เปลี่ยนอาหาร
ก.ย. 55 เปลี่ยนอาหาร น้ำหนัก 19 กรัม
พ.ย. 55 ทำโพรง
ธ.ค. 55 ออกจากดักแด้
ตัวนี้เลี้ยงพร้อมกัน แต่ว่าไม่ได้เปลี่ยนอาหาร จนเชื้อเห็ดย่อยกลายเป็นสีดำ
ขนาดที่ได้เลยเล็กกว่ามาก
น่าดีใจ ถ้าให้บอกว่าด้วงกระทิงตัวใหญ่ 2 ชนิดยอดนิยมอยู่ในบ้านเราทั้ง 2 ชนิดเลย
นั่นคือด้วงคีมเคอร์วิเดนส์และด้วงคีมกระทิงดำ
แต่น่าเสียใจ ที่การเพาะให้ได้ขนาดเท่าตัวจากธรรมชาติในเมืองไทยยังไม่เคยเกิดขึ้น
เป็นเหมือนด่านใหญ่ที่ยังไม่มีใครผ่านไปได้
สำหรับนักเพาะที่ได้อ่านกระทู้นี้แล้ว จงรวบรวมสมัครพรรคพวกและเหล่าจอมยุทธนักเพาะทั่วหล้า
มาทำลายกำแพงที่ขวางอยู่นี้เถอะ
No comments:
Post a Comment