Pages - Menu

Thursday, July 4, 2013

ด้วงกว่าง... เลือดนักสู้ ในล้านนา

ด้วงกว่าง    กว่าง... เลือดนักสู้ ในล้านนา

กว่าง


          ภาพกองเชียร์ทั้งรุ่นเด็ก รุ่นเดอะ เปล่งเสียงเฮลั่น ออกลีลาอย่างเมามันส์ สลับกันเสียงไม้เคาะโป๊กๆ เป็นภาพที่ไม่คุ้นตานักสำหรับคนต่างถิ่นที่มาเยือนแผ่นดินล้านนาในช่วงฤดูฝน ผู้มาเยือนจะรู้ไหมว่า เสียงและภาพที่เห็นนั้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เกมการแข่งขันของลูกผู้ชาย กำลังเริ่มต้นขึ้น และนี่คือชีวิตที่ต้องต่อสู้ โดยมีศักดิ์ศรีเป็นเดิมพันของ "กว่าง" ราชาแห่งแมลง

 รู้จัก "กว่าง"

          กว่าง หรือบางทีเรียกว่า "แมงคาม" เป็นชื่อเรียกของด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มี 6 ขา ตัวผู้จะมีเขายื่นไปข้างหน้าและโค้งเข้า ตอนปลายแยกเป็นสองแฉก ซึ่งมีตั้งแต่ 2 เขา 3 เขา และ 5 เขา ส่วนตัวเมียไม่มีเขา เกิดจากไข่ของแม่กว่างที่ฟักตัวในดิน มีชื่อเรียกตามรูปร่าง ตามขนาด และเรียกตามแหล่งที่เกิด เช่น กว่างโซ้ง กว่างแซม กว่างกิ กว่างอีลุ้ม บางชนิดไม่นิยมนำมาเลี้ยง

          สีของกว่างจะมีทั้งสีแดงเปลือกมังคุดมันเงา ไปจนถึงสีดำมันเงาเหมือนสีของเฟอร์นิเจอร์ เช่น เปียโน หรือเครื่องเสียงชั้นดีจากต่างประเทศ ที่เป็นสีมะฮอกกานี สีแดงของไม้มะค่า กว่างบางตัวมีสีดำเหมือนสียางไม้รัก ชาวบ้านเรียกชื่อกว่างตามสี เช่น ถ้ากว่างสีดำออกแดง เรียกว่ากว่างรักน้ำใส ถ้าสีดำสนิทเรียกว่า "กว่างรักน้ำปู๋" อาหารของกว่างมีทั้งยอดพืชผัก ยอดหน่อไม้ ใบคราม ไม้แพ่ง ไม้มะกอก และกล้วยต่างๆ อาหารที่ชอบเป็นพิเศษคือ น้ำหวานจากอ้อย

วงจรชีวิตของกว่าง

          กว่างมีวงจรชีวิตประมาณ 1 ปี คือช่วงต้นฤดูฝน ในระยะที่เป็นตัวหนอนหรือ ตัวด้วงจะมีสีขาว ตัวโต มีความยาวประมาณ 5 - 6 เซนติเมตร และเส้นรอบวง ประมาณ 1 นิ้ว ในช่วงนี้จะอยู่ในดินชอบกินเศษใบไม้ผุ ตอไม้ หรือต้นไม้ที่ผุ เป็นการช่วยธรรมชาติใ นการย่อยสลายใบไม้ ต้นไม้ ให้กลายเป็นปุ๋ยแก่ดินได้เป็นอย่างดี

          ต่อมากลายเป็นดักแด้ และตัวเต็มวัยเป็นวัยเจริญพันธุ์พร้อมสืบเผ่าพันธุ์ได้ ในช่วงที่เป็นตัวหนอนถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 1 - 2 เดือน ก่อนที่จะถึงฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมาทำให้ดินอ่อน ด้วงกว่างที่เจริญเติบโตเต็มที่ก็จะดันดินออกมาสู่โลกภายนอก เพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ และเพื่อการผสมพันธุ์ กว่าง ตัวผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นที่มีโอกาสรอดเพื่อการผสมพันธุ์ โดยกว่างจะต่อสู้เพื่อแย่งชิงตัวเมีย และฝ่ายที่ชนะก็จะได้รับรางวัลได้ผสมพันธุ์กับตัวเมีย เป็นการคัดเลือกสายพันธ์ที่ดีตามธรรมชาติ ใช้วงจรชีวิตช่วงนี้ประมาณ 4 เดือน พอเข้าในฤดูหนาว กว่างตัวเมียหลังจากผสมพันธุ์ ก็จะขุดดินแล้ววางไข่ ส่วนตัวเองก็จะตาย ไข่ก็ฟักเป็นตัวหนอน เป็นดักแด้อาศัยอยู่ใต้ผิวดิน จนถึงต้นฤดูฝนก็จะขุดดินขึ้นมาผสมพันธุ์ดำรงชีวิตสืบลูกหลานต่อไป
กว่างประเภทต่างๆ

กว่างมีหลายชนิด ได้แก่


กว่างโซ้ง


           กว่างโซ้ง (ซ่ง) เป็นกว่างตัวผู้ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะดีที่สุด ตัวโต สง่างาม เขายาวและหนาทั้งข้างล่างข้างบน ลำตัวสีน้ำตาลแดง สีสันสวยงาม กว่างชนิดนี้มักจะส่งเสียง "ซี่ ๆ" ตลอดเวลา นิยมใช้ชนกัน ลักษณะของกว่างโซ้งที่ดีนั้น ต้องมีหน้ากว้าง กางเขาออกได้เต็มที่ เขาล่างจะยาวกว่าเขาบนนิดหน่อย ถ้าเขาล่างยาวกว่าเขาบนก็จะเรียกว่า "กว่างเขาหวิด" ถือว่าหนีบไม่แรง ไม่แน่น


กว่างกิ

           กว่างกิ เป็นกว่างตัวผู้ที่มีเขาข้างบนสั้น (กิแปลว่าสั้น) เขาบนจะออกจากหัวออกมานิดเดียว กว่างกิจะต่อสู้หรือชนกันโดยใช้เขาล่างงัดกัน แต่ไม่สามารถใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้ได้ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นกว่างชน กว่างกิมี 2 ชนิดคือ กว่างกิขี้หมู ซึ่งเป็นด้วงที่เกิดในบริเวณมูลสุกรเก่า ตัวเล็ก มักมีสีน้ำตาลแดง และ กว่างกิทุย เป็นกว่างกิที่มีตัวใหญ่ขนาดใกล้เคียงกับกว่างโซ้ง แต่เขาสั้นกว่า ลำตัวมีสีน้ำตาลอมดำ (ทุย แปลว่า กระเทย หรือ ครึ่งๆ กลางๆ)

กวางอีลุ้ม

           กว่างอีลุ้ม เป็นกว่างตัวเมียซึ่งเป็นเหยื่อล่อตามธรรมชาติ บางแห่งเรียกว่า กว่างแม่อู้ด กว่างแม่มด หรือ กว่างแม่อีดุ้ม กว่างตัวเมียนี้จะมีทั้งชนิดตัวเล็กและตัวใหญ่ มีทั้งสีน้ำตาลและสีดำ กินจุกว่ากว่างตัวผู้ ไม่มีเขา ปากมีลักษณะเป็นฝาสำหรับขุด ซึ่งจะขุดอ้อยให้เป็นแอ่งเห็นได้ชัด ปกติจะใช้กว่างแม่อีหลุ้มนี้เป็นตัวล่อให้กว่างตัวผู้ชนกัน กว่างตัวเมียนี้เมื่อผสมพันธุ์แล้ว จะขุดรูลงดินเพื่อวางไข่แล้วจึงตาย

           กว่างแซม เป็นกว่างขนาดกลาง มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ้ง แต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อย และมีลำตัวสีน้ำตาลแดงกว่า เขาสั้น เรียวเล็ก ท่าทางสง่างาม คล่องแคล่ว กว่างชนิดนี้มักเลี้ยงไว้เป็นคู่ซ้อมหรือให้เด็กๆ เล่นกันแทนกว่างโซ้ง

           กว่างก่อ ชอบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ก่อ ลักษณะเด่นของกว่างชนิดนี้คือ ตามตัวมีขน มีความแข็งแรงและอดทนมากกว่ากว่างที่ใช้กันโดยทั่วไป ทำให้บางคนใช้กระดาษทรายมาขัดกว่างชนิดนี้แล้วนำไปชนกับกว่างชนซึ่งมักจะชนะ ทุกครั้ง โดยปกติแล้วกว่างก่อถือเป็นกว่างป่าชนิดหนึ่งที่ไม่แพร่หลาย จึงไม่นิยมนำมาชนแข่งกัน

           กว่างดอยหล่อ ดอยหล่อ เป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ กว่างดอยหล่อมีชื่อเสียงในด้านความอดทนแข็งแกร่ง พูดกันว่าเป็นกว่างที่ผ่านความลำบากในการขุดหินขุดทรายขึ้นมา จึงมีความอดทนเป็นเลิศ เมื่อใครได้กว่างดอยหล่อมาเลี้ยงไว้ชน จึงมั่นใจได้ว่ามีกว่างที่ดีและอดทน เมื่อถึงฤดูเล่นกว่างมาถึงนักเล่นกว่างจึงแสวงหากว่างดอยหล่อมาเลี้ยง บางคนถึงกับเดินทางไปที่หมู่บ้านดอยหล่อ เพื่อหากว่างชนดอยหล่อก็มี

           กว่างงวง (กว่างหน่อ) คือด้วงงวงของภาคกลาง กว่างชนิดนี้ชอบกินหน่อไม้ หรือยอดอ่อนมะพร้าว ลำตัวมีขนาดเล็ก สีดำ ตรงปากจะมีส่วนยื่นเป็นงวง และไม่มีเขา กว่างชนิดนี้ไม่นิยมนำมาเลี้ยงเพื่อชนกัน

กว่างซาง

           กว่างซาง เป็นกว่างขนาดใหญ่ สีของปีกออกไปทางสีครีม หรือสีหม่น มีเขา 5 เขา ข้างบนมี 4 เขา เรียงกันจากซ้ายไปขวา ข้างล่างมี 1 เขา ไม่นิยมนำมาชนกัน เพราะอืดอาด ไม่แคล่วคล่องว่องไว ชนไม่สนุก

           กว่างฮัก หรือกว่างรัก มีสีดำ รูปร่างและขนาดใกล้เคียงกับกว่างแซม กว่างชนิดนี้ไม่ค่อยใช้ชนกัน เพราะกล่าวกันว่า น้ำอดน้ำทนสู้ กว่างโซ้งไม่ได้ ดังที่ว่า "กว่างฮักน้ำใส ไว้ใจ๋บ่ได้"
           กว่างหนวดขาว ลักษณะเหมือนกับกว่างโซ้ง แต่ต่างกันที่ตรงหนวดจะมีสีขาว เชื่อกันว่าเป็นพญากว่าง กว่างหนวดขาวนี้จะชนจะสู้กับกว่างทุกขนาด กว่างหนวดดำจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เพราะเกรงกลัวอำนาจของพญา บางครั้งกำลังชนกันพอรู้ว่าเป็นพญากว่าง กว่างหนวดดำ หรือกว่างธรรมดาก็จะถอยหนี คือไม่ยอมเข้าหนีบด้วย มีนักเล่นกว่างบางคนหัวใส เมื่อได้กว่างหนวดขาวมา ก็พยายามย้อมหนวดของกว่างให้เป็นสีดำเหมือนกับกว่างทั่วไป โดยใช้ยางไม้กับมินหม้อผสมกัน แต้มหนวดขาวให้เป็นดำ เมื่อนำไปชนบางครั้งสีที่ย้อมหนวดหลุดออก อีกฝ่ายจับได้ว่าใช้กว่างหนวดขาวปลอมมาชน เกิดทะเลาะกันก็มี

           กว่างหาง มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ้ง แต่ลำตัวมีสีน้ำตาลแดง หรือสีของน้ำครั่ง กว่างชนิดนี้ใช้ชนได้เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วคนมักจะกล่าวกันว่า กว่างหางจะไม่เก่งเท่ากว่างโซ้ง

ประเพณีชนกว่าง

          เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวล้านนาที่นิยมเล่นมานานจนกลายเป็นประเพณี และเป็นกีฬาพื้นบ้านที่มีเสน่ห์ในตัว ปัจจุบันยังมีการเล่นกันอยู่ แม้ไม่มากเท่ากับในอดีต แต่ก็ยังเป็นที่นิยมกันในหมู่ผู้ชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะเล่นในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม เพราะนอกจากจะเป็นช่วงที่กว่างออกมาจากดินแล้ว ยังเป็นช่วงที่ชาวบ้านสมัยก่อนว่างจากการทำงาน เพราะข้าวที่ปลูกไว้กำลังตั้งท้อง แต่พอออกพรรษาแล้วก็เลิกชนกว่าง ปล่อยกว่างกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อสืบลูกสืบหลานในปีหน้าตามวัฎจักร

          มีหลายคนตั้งคำถามว่า การชนกว่างเป็นการทารุณสัตว์หรือไม่ แต่อันที่จริงแล้ว การชนกว่างถือเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นในฤดูผสมพันธุ์อยู่แล้ว เพราะกว่างตัวผู้ต้องการแย่งชิงกว่างตัวเมีย และแสดงให้เห็นถึงอำนาจ

กว่าง... หาจากที่ไหน

          ผู้จะเล่นชนกว่าง ต้องหากว่างก่อน โดยอาจหาตามพืชที่กว่างชอบกิน เช่น หน่อไม้รวก ใบคราม หรือต้นไม้ที่มีเครือรกฟ้าปกคลุม เพราะกว่างอาจมาเกาะเพื่อดูดน้ำหวาน เวลาที่หากว่างได้ง่ายที่สุดคือ ช่วงตี 4 เศษ เพราะกว่างยังไม่เข้าหลบอยู่ใต้ดิน

          แต่ส่วนใหญ่แล้ว การหากว่างมักใช้วิธีการตั้งกว่าง หรือใช้กว่างล่อ โดยใช้กว่างที่มีขนาดเล็ก เช่นกว่างกิ กว่างแซม หรือกว่างตัวเมียที่เรียกว่า กว่างแม่อีลุ้ม เกาะกับอาหารที่เป็นตัวล่อ เช่น อ้อยที่ปอกแล้วใช้ไม้ขอเสียบส่วนบน, ชิ้นอ้อยที่เสียบสานกันเป็นตะแกรง แต่โดยมากมักจะเป็นกล้วยน้ำว้าผ่าซีก ใส่กะลาที่มีไม้ตะขอเสียบอยู่ ผูกโยงกับกว่างไว้ ให้เป็นกว่างล่ออยู่ข้างใน เรียกว่า "ซั้งกว่าง" แล้วนำตะกร้า หรือกะลาไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ในตอนหัวค่ำ สถานที่นิยมคือ ตามชายคาบ้าน ชายป่า หรือในบริเวณที่ใกล้กับเนินดิน

          ในตอนกลางคืน กว่างตัวล่อจะบินมีเสียงดัง ดึงดูดให้กว่างที่บินเวลากลางคืนเข้ามาหาเพื่อติดกับ โดยมีอ้อนยอาหารชอบหลอกล่ออยู่ พอตอนเช้ามา "ยกกว่าง" ถ้าเห็นว่าเป็นกว่างโซ้งก็จะนำไปเลี้ยงไว้เพื่อชนต่อไป ถ้าเป็นกว่างแซมก็จะเก็บไว้เป็นกว่างล่อ ถ้าเป็นกว่างตัวเมียก็จะเก็บใส่กระป๋อง และใส่อ้อยเลี้ยงไว้ เพื่อใช้ล่อให้กว่างตัวผู้ชนกัน

กว่าง... เลี้ยงอย่างไร

          กว่างโซ้งที่จับได้จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี โดยหาอ้อยที่หวานจัดมาปอกให้กว่างดูดน้ำหวาน และจะผูกด้ายสีแดงไว้ที่ตัวกว่าง เพื่อป้องกันกว่างบินหนี ที่โคนลำอ้อยจะมีตะขอกันไม่ให้จิ้งจกเลียตีนกว่าง เพราะถ้าจิ้งจกเลียตีนกว่างแล้ว กว่างจะเกาะคอนได้ไม่มั่นคง

          นอกจากนี้ก็จะต้องหมั่นฝึกซ้อม นำกว่างลงคอนไม้ เพื่อให้กว่างเคยชินกับคอน ฝึกการเลี่ยงซ้ายเลี่ยงขวากลับหน้า กลับหลัง ฝึกการลงจากอ้อยลงสู่คอนจากคอนขึ้นสู่อ้อย ในการฝึกจะใช้ไม้สี่เหลี่ยมเล็กๆ ปลายแหลมเรียกกันว่า "ไม้ผั่นกว่าง" เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ตื่นนอนตอนเช้าก็จะนำกว่างไปออกกำลังคือให้บินโดยใช้เชือกผูกจากเขากว่าง กว่างก็จะบินวนไปวนมา เมื่อเห็นว่าออกกำลังพอสมควรแล้ว จะนำกว่างไป "ชายน้ำเหมย" คือ นำกว่างไปราดใบข้าวที่เปียกน้ำค้างในตอนเช้า หรือบ้างก็เคี้ยวอ้อยแล้วพ่นน้ำหวานใส่กว่าง ทำอย่างนี้ทุกวันกว่างจะแข็งแรง

ลักษณะกว่างชนที่ดี

          ลักษณะกว่างชนที่ดีนั้น ส่วนหัวต้องสูง ท้ายทอยลาดลงเป็นสง่า แต่ถ้าท้ายทอยตรงโคนเขาบนเป็นปม ไม่เรียบตลอด เรียกว่า "กว่างง่อนง็อก" ถือว่าเป็นกว่างไม่ดี จะมีนิสัยเหลาะแหละ "วอกนัก" เดี๋ยวสู้ เดี๋ยวไม่สู้

          ถ้าเป็น "กว่างหาง" สีปีกต้องเป็นสีเดียวกันตลอด ถ้าสีของปลายปีกออกสีแดงมันเป็นเลื่อม เรียกว่า "เหลื้อมปลายปีก" เป็น กว่างที่ไม่ดี ใจไม่สู้ ชนไม่เก่งดีแต่ท่าทาง มักจะนำมาเปรียบเทียบกับคนที่เอาแต่แต่งตัวการงานไม่ดี ใจไม่ดี ไม่มีข้าวของเงินทอง เรียกว่าดีแต่ท่า หรือ "คนเหลื้อมปลายปีก"

          กว่างที่ดีต้องเป็นกว่างที่ฉลาดสอนง่าย "เลี่ยง" หรือกลับหลังกลับข้างได้ไว เมื่อใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้ จะหนีบแน่นไม่ยอมให้หลุดง่ายๆ เมื่อคู่ต่อสู้ถอย มันจะสอดเขาตามจนคู่ต่อสู้ตั้งหลักไม่ทัน เมื่อได้หนีบจุดสำคัญ คือตรง "ก็อกมูยา" หรือโคนขาหน้า ก็จะพยายามยกคู่คู่ต่อสู้ให้ตีนหลุดจากคอน และชูขึ้น แต่ถ้าตัวเองโดนหนีบ จะพยายามให้หลุดจากเขาคู่ต่อสู้ หรือพยายามเปลี่ยนท่าให้เจ็บน้อยที่สุด กว่างชนที่ดี คือ กว่างที่อดทน ถึงเจ็บมากก็ไม่ถอดใจง่ายๆ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการชนกว่าง
           1.ไม้คอน คือ ท่อนไม้กลมเป็นเหมือนเวทีประลองของกว่าง ทำด้วยต้นปอ หรือท่อนไม้ฉำฉา ยาวประมาณ 80-100 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ตรงกลางเจาะรู้สำหรับใส่กว่างตัวเมีย จากด้านล่างให้โผล่เฉพาะส่วนหลัง พอให้มีกลิ่น ส่วนด้านล่างใช้เศษผ้าอุดแล้วปิดด้วยฝาไม้ที่ทำเป็นสลักเลื่อนเข้าอีกที เพื่อกันไม่ให้กว่างตัวเมียถอยตัวออก คอนชนิดนี้มีไว้สำหรับฝึกซ้อมให้กว่างชำนาญในการชน

          ไม้คอนอีกรูปร่างหนึ่งทำด้วยแกนปอ หรือไม้ชนิดอื่นก็ได้ที่เนื้อไม้ไม่แข็งมาก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ไม้ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนหัวและท้ายทำเป็นเดือย บางแห่งเดือยยาว 3 เซนติเมตร บางแห่ง 6 เซนติเมตร ตรงกลางด้านบนเจาะรูขนาด 2 เซนติเมตร ด้านล่างตัดเป็นปาก ยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ตัดลึกเข้าไปประมาณครึ่งหนึ่งของไม้คอน มีสลักทำให้ถอดออกได้เป็นฝาปิด ส่วนที่เหลืออีกครึ่ง เจาะเป็นโพรงเข้าไปหารูเล็ก เพื่อเป็นช่องนำกว่างตัวเมียใส่ ให้หลังของกว่างตัวเมียโผล่ออกรูคอนด้านบน ด้านล่างอุดด้วยเศษผ้าแล้วใช้ฝาปิดไว้ แบ่งระยะจากรูตรงกลางออกไปข้างละเท่าๆ กัน ทำรอยเครื่องหมายกั้นไว้ ไม้คอนจะใช้เป็นที่ฝึกกว่างหรือให้กว่างนี้ชนกัน

           2.ไม้ผั่น (ไม้ผั่นกว่าง, ไม้ผัด, ไม้แหล็ด หรือ ไม้ริ้ว) ทำจากไม้จิง หรือไม้ไผ่ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตรยาวประมาณ 8 เซนติเมตร ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมปลายบัว หรือปลายแหลม ส่วนโคนเหลาให้เล็ก เป็นที่สำหรับจับถือ ตรงใกล้ที่จับนั้นจะบากลง และเหลาให้กลม แล้วเอาโลหะมาคล้องไว้อย่างหลวมๆ เวลา "ผั่น" หรือปั่น ให้ผั่นให้หมุนกับคอนนั้น จะมีเสียง "กลิ้งๆ" ตลอดเวลาไม้ผั่นนี้ใช้ผั่นหน้ากว่างให้วิ่งไปข้างหน้า เขี่ยข้างกว่างให้กลับหลัง เขี่ยแก้มกว่างให้หันซ้ายหันขวา ถ้ากว่างไม่ยอมสู้ ก็จะใช้เจียดแก้มกว่างให้ร้อนจะได้สู้ต่อไป หรือใช้เมื่อต้องการให้กว่างคึกคะนอง หรือเร่งให้กว่างต่อสู้กัน การผั่นจะใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางหมุนไปมากับคอนให้เกิดเสียงดัง

           3.ไม้เคาะจังหวะ จะทำเป็นไม้เล็กๆ คล้ายตะเกียบ ใช้เพื่อเคาะจังหวะ เมื่อเคาะแล้วมีเสียงดัง โป๊กๆๆ
การใช้ไม้ผั่นและไม้เคาะจังหวะ คล้ายกับการโหมโรงของมวยไทยเพื่อให้นักสู้เกิดความคึกคะนอง มีความฮึกเหิมอยากต่อสู้

กติกาชนกว่าง


ชนกว่าง

          ก่อนจะนำกว่างมาชนกัน จะต้องนำกว่างมาเทียบขนาด และสัดส่วนก่อนที่เรียกว่า เปรียบคู่ เมื่อตกลงจะนำกว่างมาชนกัน เจ้าของกว่างทั้งคู่ ต้องขอกว่างฝ่ายตรงข้ามมาตรวจดูก่อนว่าไม่มีกลโกง เช่น ใช้น้ำจากพริกขี้หนู ยาหม่อง หรือขี้ยาจากควันบุหรี่มาป้ายเขากว่าง จึงต้องเช็ดปลายเขากว่างคู่ต่อสู้ให้มั่นใจก่อนชน ทั้งนี้แต่ละฝ่าย จะต้องมองดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามอย่างละเอียด โดยเกรงว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะหักขา หรือเด็ดปลายตีนกว่างของตน เป็นต้น

          เมื่อเปรียบกว่างและตรวจดู กว่างเรียบร้อย ก็ตรวจดูคอน ตรวจกว่างแม่อีหลุ้มว่าอยู่ประจำที่แล้ว แต่ละฝ่ายจะว่างกว่างของตนบนคอน หันหน้าเข้าหากันห่างจากจุดศูนย์กลางประมาณ 1 คืบ ปกติแล้วคอนกว่างจะวางบนขาไขว่ทั้ง 2 ข้าง ขาไขว่สูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร ใช้ขาข้างละ 1 อันฝังดิน ส่วนขาข้างบนเจาะรูตรงกลาง สำหรับสอดเดือยคอนที่ยาว ประมาณ 3 เซนติเมตรเข้าไป หมุนคอนไปซ้ายไปขวาได้ อีกมือหนึ่งก็จะหมุน ไม้ผั่นกับคอนให้เกิดเสียงดัง
          กว่างเมื่อได้ยินเสียง และได้กลิ่นกว่างแม่อีหลุ้ม ก็จะตรงไปที่กว่างตัวเมีย เมื่อพบกันเข้าก็จะเอาเขาสอดสลับเขากันเรียกว่า "คาม" กว่างตัวที่สอดเขาได้ดีกว่า และแรงมากกว่าก็จะหนีบ และดันคู่ชนไปข้างหน้าไปจนถึงขีดเครื่องหมายปลายคอน นับเป็น 1 คาม เจ้าของกว่างจะนำกว่างให้คลายการหนีบ แล้วนำมาชนกันใหม่ที่กลางคอนเมื่อกว่างตัวใดเจ็บ หรือมีความอดทนน้อยไม่ยอมสู้ จะแสดงออกด้วยการถอยหลัง ไม่ยอมเข้าหากว่างคู่ชน ก็ถือว่าแพ้ แต่ถ้าตามกันจนครบ 12 หรือ 15 คาม แล้วแต่จะตกลงกัน และไม่มีกว่างตัวใดแพ้ จะยกเลิกถือว่าเสมอกันไป บางครั้งเจ้าของอาจจะตกลงกันว่า สู้กันสัก 2-3 คามเป็นการจามกัน (จาม แปลว่า การทดลองชนกัน เพื่อดูลีลาไม่เอาจริง)

          ในการชนกว่างแต่ละครั้งมักจะมีการวางเดิมพันกัน เพื่อความสนุกสนานตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น ถ้าชนกว่างในบ่อน คู่ต่อสู้จะต้องไปวางเงินที่เจ้าหน้าที่ของบ่อนเพื่อความแน่นอน กว่างที่ชนะก็ทำให้เจ้าของมีหน้ามีตา แต่ถ้ากว่างแพ้แล้วมักจะถูกหักคอทิ้ง เพราะเจ้าของต้องเสียทั้งหน้าและเสียทั้งเงิน

ภาษาในวงชนกว่าง

           เปรียบกว่าง เป็นการเทียบรุ่นและขนาดของกว่าง ก่อนการต่อสู้

           ยากว่าง คือ การใช้ไม้ผั่นสะกิดขาหลัง ก้น หรือลำตัวด้านข้าง เพื่อให้กว่างที่กำลังต่อสู้กัน แล้วกำลังได้เปรียบคู่ต่อสู้ปล่อยอีกฝ่ายที่เสียเปรียบ ถ้าใช้ไม้กรีดไปตามร่องอก หรือหว่างขาทำให้กว่างมีอาการคึกคัก อยากต่อสู้ เป็นการไสกว่างให้ชนกัน

           ใส่น้ำ เหมือนการให้น้ำนักมวย โดยคนที่เป็นเจ้าของกว่างอมน้ำในปาก แล้วเป่าหรือพ่นใส่หน้าอกหรือ ลำตัวของกว่าง เพื่อให้กว่างที่ต่อสู้มีอาการดีขึ้นและพร้อมสู้ต่อไป

           คาม คือ อาการที่กว่างใช้เขาหนีบต่อสู้กัน โดยใช้เขาล็อคอีกฝ่ายไว้ และต่างฝ่ายต่างหนีกัน เจ้าของกว่างอาจตกลงกติกากันว่า ในการแข่งขันแต่ละครั้งจะสู้กันกี่คาม เช่น สามคาม ห้าคาม แต่บางครั้ง อาจไม่นับ ความ แต่จะถือการแพ้ชนะจากการที่กว่างอีกฝ่ายถอยและไม่ยอมสู้ บางครั้งสู้กันจนกว่างตายก็มี

           อมคอ หมายถึง กว่างใช้เขาหนีบคอต่อหรือคอด้านข้างของคู่ต่อสู้ไว้

           กว่างแล่น คือ กว่างคึกคักด้วยเสียงดนตรีจากการเชียร์ โดยคนเคาะจังหวะจากไม้เคาะจังหวะ หรือไม้ผั่น ในระหว่างการต่อสู้ อาการพร้อมสู้ของกว่างสังเกตจากหนวดเล็กๆ ที่อยู่ด้านล่างเขาของกว่างชาวบ้าน เรียกว่า กล้องปู้ยา ถ้ากล้องปู้ยาของกว่างดิ้น แสดงว่ากว่างกำลังคึกคัก มีความตื่นตัวเต็มที่ เดินเข้าหาคู่ต่อสู้ กว่างจะเดิน แบบย่างสามขุม สง่างาม มีลีลาโยกซ้าย โยกขวา เหมือนนักมวยไทย แต่ถ้าเมื่อใดกล้องปู้ยาไม่กระดิกแสดงว่า กว่างยอมแพ้ ไม่สู้ ควรพากลับบ้าน

คืนกว่างสู่ธรรมชาติ

          หลังจากกว่างได้เกิดและออกจากดินมาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนแล้ว ก็กำลังจะหมดอายุขัย และก็เป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาลการชนกว่างพอดี ตามธรรมเนียมที่เคยทำกันมา เมื่อออกพรรษาแล้วจะนำกว่างตัวเมียมาให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ มีกว่างตัวเมียอยู่กี่ตัว ก็จะเอามาให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ทุกตัว แล้วนำทั้งกว่างตัวผู้ และตัวเมียไปใส่ไว้ในตะกร้าที่มีกล้วยอ้อย นำไปแขวนไว้ตามชายคาบ้านหรือใต้ต้นไม้ ตกกลางคืนกว่างทั้งหลายก็จะผสมพันธุ์กันตามวิสัย แล้วกว่างตัวเมียจะบินไปสู่บริเวณที่เป็นเนินดินแล้วขุดลงไปไข่ไว้ในดิน หลังจากไข่แล้ว กว่างตัวเมียก็จะฝังตัวตายอยู่ในที่นั้น ไข่ก็จะฟักออกเป็นตัวหนอนและเป็นกว่างในปีต่อไป


          แม้โลกของกว่างจะเป็นเวลาเพียงช่วงสั้นๆ  แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงโลกแห่งความเป็นจริงที่สอดคล้องกับชีวิตที่ต้องต่อสู้ แข่งขัน ของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

No comments:

Post a Comment